You are currently viewing “ธนกร” ค้าน “ณัฐวุฒิ” ย้ำ ไม่ควรนิรโทษกรรม คนผิดม.112

“ธนกร” ค้าน “ณัฐวุฒิ” ย้ำ ไม่ควรนิรโทษกรรม คนผิดม.112

“ธนกร” ค้าน “ณัฐวุฒิ” ย้ำ ไม่ควรนิรโทษกรรม คนผิดม.112 เหตุ เป็นคดีความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่การเมือง ถามกลับ ใครมาด่าพ่อแม่จะยอมไหมแนะ อย่าเหมาเข่ง แม้เห็นต่าง ขอ ผู้ใหญ่บางพรรค อย่าให้ท้ายเด็กทำผิด ชี้ ปัญญาชนต้องเคารพกม.ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

วันที่ 15 มีนาคม 2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำนปช.มองคดีม.112 เป็นเงื่อนไขทางการเมือง หากอยากคลี่คลายความขัดแย้งควรขยายพื้นที่การนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงความผิดมาตรานี้ด้วยนั้น ว่า ก่อนอื่นบุคคลในฝ่ายการเมืองต้องตั้งหลักให้ถูกต้องก่อน เพราะคดีชุมนุมทางการเมือง กับ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นการหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ เป็นคนละเรื่องที่จะนำมาเหมารวมว่าเป็นการเมืองไม่ได้ ยกตัวอย่าง หากมีใครมาด่าว่า หมิ่นประมาทบุพการีของเรา แบบเสียๆหายๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง เจ้าตัวจะยอมหรือไม่ ตนเข้าใจว่าที่หลายคนมองเรื่องนี้ผิดไปเป็นเรื่องการเมืองนั้น เนื่องจากมีบางพรรคการเมือง ให้การสนับสนุนกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว เมื่อมีความผิดก็คิดว่าเป็นคดีทางการเมืองซึ่งไม่ใช่ และที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้ชัดแล้วว่าการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรานี้ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ตนจึงอยากให้ทุกฝ่ายทางการเมือง ตั้งสติ แยกประเด็นให้ถูกต้อง

เมื่อถามว่า หากนิรโทษกรรมไม่รวมคดี ม.112 จะมีการแก้ปัญหาความเห็นต่างในบ้านเมืองอย่างไร นายธนกร กล่าวว่า สังคมไทยมีหลายเวทีให้แสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย ทั้งเวทีสาธารณะและเวทีสภา ซึ่งตนมองว่า ควรที่จะเคารพความเห็นต่างของทุกฝ่าย แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง หรือ บางกลุ่ม ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน สมควรที่ปัญญาชน ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพคนอื่นในสังคม ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลของกลุ่มตนเองฝ่ายเดียว มากกว่านั้น พรรคการเมืองหรือผู้ใหญ่ต้องชี้แนะและให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่วคนรุ่นใหม่ ไม่เป็นการให้ท้ายในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นความมั่นคงของรัฐ ต้องให้ความสำคัญใครจะละเมิดไม่ได้ ถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยกและบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

“คุณณัฐวุฒิ ควรยึดหลักการให้ดี ไม่ใช่เห็นว่าเป็นการชุมนุมแล้วเหมารวมว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปเสียหมด ต้องมาดูว่าเจตนาและเป้าหมายของการชุมนุมและการแสดงความเห็นต่าง ๆ นั้น ต้องการอะไรกันแน่ ความคิดเห็น ความชื่นชอบทางการเมืองแตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่สร้างความแตกแยก ทำกิจกรรมโดยความสงบ และต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย หากทำผิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ ไปแตะต้องเบื้องสูงเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ไม่ถูกต้อง และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยชี้ชัดมาแล้ว ซึ่งนายณัฐวุฒิก็ยอมรับเองว่า ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวแบบนี้มาก่อน จึงมองว่าเรื่องนี้ก็ไม่ควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่การเมือง“ นายธนกร กล่าว